แพลตตินั่มเคยเป็นโลหะไร้ค่า
เชื่อไหมครับว่าทองคำขาว หรือแพลตตินั่ม เคยเป็นโลหะไร้ค่าที่ถูกโยนทิ้งมาแล้ว วันนี้ผมจะพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับแพลตตินั่ม ให้มันลึกลงไปอีกครับ
ในปี ค.ศ 1557 ชาวยุโรปคนหนึ่งชื่อว่า Julius Caesar Scaliger (เซซา เดลลา สกาล่า) ได้เขียนข้อความในสมุดบันทึกว่า " ในระหว่างที่เขากำลังดูชาวพื้นเมืองขุดหาทองคำ เขาได้พบกับโลหะชนิดหนึ่ง สีเทา มีลักษณะคล้ายเม็ดทราย ติดปนขึ้นมากับการขุดทองคำ โลหะชนิดนี้ไม่สามารถใช้ไฟในการหลอมละลายได้" นี่จึงเป็นสิ่งที่น่ากวนใจสร้างความน่ารำคาญให้กับนักขุดหาทองคำของเป็นอย่างมาก เพราะด้วยมันมีน้ำหนักคล้ายคลึงกับทองคำ เลยทำให้การร่อนหรือคัดแยกทองคำทำได้ยาก
ต่อมาในศตวรรษที่ 16 Antonio de Ulloa (อัลโตนิโอ เดอร์ อูลอร์อ่า) นายทหารเรือใหญ่ชาวสเปนในระหว่างออกเดินทางสำรวจ เขาได้บันทึกข้อความถึงโลหะชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ สีเงิน พบในแม่น้ำระหว่างกำลังออกตรวจการร่อนทอง และเขาให้ชื่อเรียกมันว่า "platina del Pinto" เป็นภาษาสเปน ซึ่งหมายถึง "เศษเงิน ของแม่น้ำดิปินโต้" ในตอนนั้นเขายังคิดว่ามันเป็นโลหะที่ด้อยคุณภาพ เป็นทองคำที่ยังไม่สุก (คงอาจจะหมายเปรียบถึงมะม่วงเวลาสุกที่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเปล่า) และจำเป็นต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการคัดแยกเศษแพลตตินั่มออกจากทองคำ ทำให้หลายเหมืองทองต้องปิดตัวลงเพราะทำไปก็ไม่คุ้ม เมื่อขุดทองขึ้นมาแล้วต้องมาเจอกับเจ้าโลหะแพลตตินั่มตัวนี้ครับ แต่ถึงยังไงโลหะนี้หลังจากถูกขุดขึ้นและคัดแยกแล้ว มันก็จะถูกโยนกองทิ้งไว้เป็นขยะบนดิน หรือมากหน่อยก็ถูกโยนทิ้งลงแม่น้ำ และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่แพลตตินั่มจะถูกลืมหายไปในประวัติศาสตร์ เพราะมันเป็นแร่ขยะที่ไม่มีคนต้องการ
ต่อมาในปี ค.ศ.1741 Charles Wood (ชาร์ลส์วู้ด) ช่างตีเหล็กฝีมือดีชาวจาเมกา ได้เกิดความสงสัยในโลหะชนิดหนึ่งระหว่างทำงาน เพราะโลหะชนิดนี้มันไม่ยอมทำปฏิกริยากับกรดเคมีของเขาในระหว่างที่เขากำลังหลอมโลหะเงินและตะกั่ว ด้วยเหตุนี้เขาจึงนำโลหะต้องสงสัยชนิดนี้มาให้นาย William Brownrigg (วิลเลียมบราวน์ริกก์) ช่วยตรวจสอบสาเหตุให้่
ต่อมาในปี ค.ศ. 1750 William Brownrigg นายแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้เสนอรายงานเกี่ยวกับการตรวจสอบโลหะแพลตตินั่มให้กับราชสมาคมแห่งลอนดอน ซึ่งเป็นแหล่งรวมนักวิทยาศาสตร์ของสมัยนั้น โดยระบุในรายงานว่า เขาไม่เคยเห็นแร่ชนิดนี้ในบันทึกโลหะธาตุที่รู้จักมาก่อน และกรดเคมีก็ยังไม่สามารถทำปฏิกริยากับมันได้ นี่อาจจะเป็นโลหะชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบก็ได้ เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องฮือฮาและเป็นแรงกระตุ้นให้กับนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย เริ่มหันมาศึกษาและวิจัยแพลตตินั่มอย่างจริงจัง
ในปี ค.ศ 1751 เมื่อเรื่องฮือฮานี้ไปเข้าหูของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส ท่านจึงมีประกาศไปโดยทั่วว่า แพลตตินั่มเป็นโลหะชนิดเดียวที่เหมาะกับกษัตริย์ การประกาศเช่นนี้ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทำให้แร่แพลตตินั่มนั้นพลิกจากสิ่งไร้ค่ากลายเป็นโลค่ามีค่าของกษัตริย์ หลังจากนั้นบรรดานักเล่นแร่แปรธาตุทั้งหลายก็พยายามค้นคว้าสูตรความเป็นไปได้ต่างๆ เพื่อที่จะพยายามผลิตแพลตตินั่มขึ้นมาเองได้ โดยมีแนวคิดที่ว่าแพลตตินั่มอาจเป็นส่วนผสมระหว่างทองคำและเงินมารวมตัวกัน หากนำทองคำในจำนวนที่เหมาะสมมาหลอมรวมกับโลหะเงินแล้ว อาจจะกลายเป็นแพลตตินั่ม (ในสมัยนั้นนักเล่นแร่แปรธาตุเขาคิดกันไปอย่างนี้เลยครับ) แต่ปัญหาเดียวที่แก้ไม่ตกของนักเล่นแร่แปรธาตุก็คือ แร่แพลตตินั่มนี้มันไม่สามารถหลอมละลายได้
และความแข็งแกร่งของมันก็ได้ถูกทำลายลงในปี ค.ศ.1758 เมื่อ ปิแอร์โจเซฟแมคเคอร์ สามารถหลอมละลายแพลตตินั่มได้แล้ว โดยเขาใช้เครื่องจักรประดิษฐ์เป็นเลนส์กระจกรับแสงขนาดใหญ่ โฟกัสรวมแสงจากดวงอาทิตย์ฉายตรงมายังผงแร่แพลตตินั่ม แล้วผงนั้นก็ค่อยๆหลอมละลายจับตัวกันเป็นก้อนเล็กๆ สำเร็จครับ แต่มันก็ไม่เพียงพอในการนำไปใช้งาน คือคิดภาพออกไหมครับว่าถ้าจะทำเครื่องประดับสักชิ้นมันต้องสามารถหลอมลายละลายโลหะได้ในประมาณที่เยอะกว่านี้ แต่นับว่านี่เป็นชัยชนะด่านแรกที่มนุษย์เริ่มจะสามารถเอาชนะมันได้แล้วครับ
โอ้โห...จากที่ผมเล่ามานี่ผ่านมา 200 กว่าปีแล้วนะครับ มนุษย์เรายังแค่หลอมมันได้กระจึ๊กเดียว
ในปี 1783 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์แห่งเสปน ได้สร้างห้องทดลองและแต่งตั้งให้ Chabaneau (ชาวาเนา) นักฟิสิกส์เคมี ชาวฝรั่งเศส ค้นคว้าหลอมละลายและแยกธาตุโลหะแพลตตินั่มเพื่อใช้สร้างเป็นภาชนะและเครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ให้ได้ และก็มีคำสั่งโดยตรงไปยังรัฐบาลจัดหาโลหะแพลตตินั่มทั้งหมดในประเทศมาส่งให้เขาตามต้องการ หลังจากนั้นไม่นานด้วยความเป็นนักเคมีที่เก่งกาจ ชาวาเนา ก็สามารถสกัดโลหะเจือปนออกจากแพลตตินั่มได้ นี่เป็นหมุดหมายเส้นชัยที่เขาเองคิดว่าสามารถเอาชนะเจ้าโลหะประหลาดนี้ได้แล้วโดยการสกัดมันให้บริสุทธิ์
แต่แล้วก็เหมือนฟ้าส่งนรกสาปครับเมื่อโลหะที่เขาได้ทำการทดลองมานั้น มันแสดงลักษณะที่แตกต่างกัน บางชิ้นก็อ่อนงอได้ บางชิ้นเปราะบาง บางชิ้นก็หลอมละลายโดยไฟได้ง่าย บางชิ้นก็ไม่ยอมหลอมละลาย ซึ่งผลเหล่านี้มันมาจากการที่โลหะนั้นยังสกัดได้ไม่บริสุทธิ์ ยังมีแร่ธาตุอื่นที่เขายังไม่รู้จักผสมอยู่ พอเรื่องถึงบางอ้อ ชาวาเนา ก็หัวร้อนเลยครับ ออกลายนักเลงอารมณ์เสียอย่างหนัก ทำลายข้าวของในห้องทดลองแตกเสียหายยับเยิน และก็ตะโกนออกมาว่า ทิ้งแม่งให้หมด จะทุบทำลายของทุกอย่างและจะไม่กลับไปแตะต้องโลหะที่ถูกสาปนี้อีกต่อไป .....เป็นเรื่องแล้วครับท่านผู้ฟัง จากที่จะสำเร็จอยู่แล้ว กลายเป็นต้องล้มเลิกอีกครั้ง
จากนั้น 3 เดือนต่อมา เมื่อเขาหายหัวร้อน เขาก็ได้ประสบความสำเร็จในการสกัดแพลตตินั่มให้มันอ่อนนุ่มสามารถไปขึ้นตัวเรือนทำเครื่องประดับได้ แล้วก็มอบความสำเร็จนี้เป็นแพลตตินั่มที่เขาสกัดได้ขนาดประมาณ 10 ซม. ให้กับกษัตริย์สเปน แต่กระบวนการวิจัยของเขาก็ถูกกษัตริย์สั่งห้ามเผยแพร่ต่อ และให้เก็บเป็นความลับตลอดกาล
เอาละครับจากนี้ก็บันเทิงแล้วครับ เริ่มเข้าสู่ยุคแห่งธุรกิจที่นำความร่ำรวยมาสู่สเปน เมื่อราชวงศ์สเปนสามารถคิดค้นและผลิตเครื่องประดับแพลตตินั่มได้แต่เพียงผู้เดียว ชาวาเนา พ่อหนุ่มหัวร้อนเมื่อกี้ก็เริ่มสกัดแพลตตินั่มป้อนเข้าสู่ตลาดเครื่องประดับ จึงนับว่าในปี ค.ศ 1787 เครื่องประดับหรือภาชนะแพลตตินั่มถูกผลิตขึ้น จะถูกใช้หรือจำหน่ายให้กับบรรดากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ต่างๆครับ
ต่อมาในปี 1802 พระเอกขี่ม้าขาวตัวจริงก็ปรากฎตัวขึ้นครับ William Hyde Wollaston (วิลเลียมไฮด์ วอลลาสตัน) นักเคมีและฟิสิกส์ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมี ได้สามารถสกัดแพลตตินั่มให้บริสุทธิ์ 99% ได้ โดยเขาสามารถได้แยกแร่แพลเลเดียม (สัญลักษณ์ Pd) และโรเดียม (สัญลักษณ์ Rh) ออกมาได้จากโลหะที่ผสมอยู่ หลังจากนั้นเขาก็เก็บสูตรวิธีการสกัดแพลตตินั่มให้บริสุทธิ์ 99% มาเป็นความลับกว่า 20 ปี เพื่อทำไรให้ตัวเองอย่างฟู่ฟ่าอย่างมากในยุคนั้น ทำให้เครื่องประดับแพลตตินั่มนั้นเป็นที่แพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น
หลังจากนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากโลหะที่เคยคู่ควรกับกษัตริย์ ก็มีคำสั่งห้ามนำไปใช้ในการอื่นยกเว้นยุทธโธปกรณ์อาวุธของทหาร มีการนำไปเคลือบที่โคนกระสวยของขีปนาวุธเพื่อให้ทนทานต่อความร้อน ภายหลังสงครามจบลง แพลตตินั่มก็ค่อยถูกฟื้นฟูความนิยมอีกครั้งในรูปแบบของเครื่องประดับ และเข้าไปมีบทบาทในภาคธรุกิจอุตสาหกรรมมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
เป็นยังไงอย่างบ้างครับกับเรื่องราวความเป็นมาของแพลตตินั่ม โลหะธาตุที่เคยเป็นขยะที่ไม่มีคนเอา พลิกผันขึ้นแท่นสู่โลหะแห่งกษัตริย์และเข้าสู่วงการนองเลือดในอาวุธสังหาร ในบทความหน้าผมอาจจะมาเล่าเรื่องการเข้ามาสู่ของทองคำขาวหรือแพลตตินั่มในประเทศไทยครับ